วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2559

การเมืองไทยปัจจุบัน

การเมืองไทยปัจจุบันอยู่ในระบอบเผด็จการทหาร ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ และพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารและเป็นนายกรัฐมนตรี คสช. ออกประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีอาญาบางประเภท และกรณีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. (ประกาศที่ 37)
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งถูกเลิกไปแล้ว ประเทศไทยปกครองระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และประชาธิปไตยระบบรัฐสภา ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นประมุขแห่งรัฐ และนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน ส่วนฝ่ายตุลาการเป็นอิสระจากการถ่วงดุลอำนาจ ฝ่ายบริหารมีนายกรัฐมนตรีเป็นประมุขแห่งอำนาจ ฝ่ายนิติบัญญัติของไทยอยู่ในระบบสภาคู่ แบ่งออกเป็นวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ฝ่ายตุลาการ มีศาลเป็นองค์กรบริหารอำนาจ
ส่วนใหญ่ประเทศไทยมีระบบพรรคการเมืองเป็นระบบหลายพรรค กล่าวคือ ไม่มีพรรคการเมืองใดสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้อย่างเด็ดขาด จึงต้องจัดตั้งรัฐบาลผสมปกครองประเทศ
ตั้งแต่โบราณกาล ราชอาณาจักรไทยอยู่ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช อย่างไรก็ตาม หลังจากการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ประเทศไทยจึงอยู่ภายใต้การปกครองระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญเขียนฉบับแรกถูกร่างขึ้น อย่างไรก็ตาม การเมืองไทยยังมีการต่อสู้ระหว่างกลุ่มการเมืองระหว่างอภิชนหัวสมัยเก่าและหัวสมัยใหม่ ข้าราชการ และนายพล ประเทศไทยเกิดรัฐประหารหลายครั้ง ซึ่งมักเปลี่ยนแปลงให้ประเทศไทยอยู่ภายใต้อำนาจของคณะรัฐประหารชุดแล้วชุดเล่า จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญและกฎบัตรรวมแล้ว 19 ฉบับ (นับรวมฉบับปัจจุบัน) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไร้เสถียรภาพทางการเมืองอย่างสูง หลังรัฐประหารแต่ละครั้ง รัฐบาลทหารมักยกเลิกรัฐธรรมนูญที่มีอยู่เดิมและประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น