ประวัติศาสตร์ของเอเชีย ปรากฏให้เห็น ในรูปของประวัติศาสตร์ภูมิภาคชายฝั่งรอบนอกของทวีปหลาย ๆภูมิภาคที่มีความแตกต่างกัน คือเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ และตะวันออกกลาง ซึ่งพื้นที่ทั้ง 3 ภูมิภาคนี้ถูกเชื่อมโยงติดต่อกันโดยดินแดนแห่งทุ่งหญ้ายูเรเชียที่กว้างใหญ่ไพศาลภายในทวีป
พื้นที่ชายฝั่งทวีปเอเชียคือพื้นที่ที่อารยธรรมยุคแรก ๆ ก่อกำเนิดขึ้น ทั้ง 3 ภูมิภาคพัฒนาอู่อารยธรรมของตนขึ้นมาบนพื้นที่บริเวณดินแดนลุ่มแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ 3 สาย คือ
- อารยธรรมลุ่มแม่น้ำเมโสโปเตเมีย ในตะวันออกกลาง
- อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ ในเอเชียใต้ และ
- อารยธรรมลุ่มแม่น้ำฮวงโห ในเอเชียตะวันออก
อู่อารยธรรมทั้ง 3 มีความเหมือนกันหลายประการ และคงมีการติดต่อแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี่และแนวความคิดระหว่างกันด้วย เช่น ความรู้ด้านคณิตศาสตร์ และการประดิษฐ์ล้อวงกลม เป็นต้น ขณะที่ความคิดอื่นๆ เช่นตัวอักษรนั้นคงมีการพัฒนาแยกเป็นอิสระจากกันในแต่ละภูมิภาค แหล่งอารยธรรมลุ่มแม่น้ำทั้ง 3 ของเอเชียได้เจริญรุ่งเรื่อง พัฒนาเข้าสู่ความเป็น "รัฐ" แล้วขยายอำนาจกลายเป็นอาณาจักรใหญ่ หรือ "จักรวรรดิ" ได้ในเวลาต่อมา
ภูมิภาคทุ่งหญ้าที่แห้งแล้งภายในของทวีปเอเชียนั้นเป็นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าเร่ร่อน (nomads) ที่ขี่ม้า เลี้ยงสัตว์ อยู่ในดินแดนแห่งนี้มาเป็นเวลายาวนาน การมีม้าเป็นพาหนะทำให้พวกเขาสามารถเดินทางจากใจกลางทุ่งโล่งภายในทวีปออกไปยังดินแดนส่วนอื่นๆของทวีปได้ การเคลื่อนย้ายถิ่นฐานจากทุ่งหญ้าครั้งแรกสุดที่รู้จักกันคือกลุ่มอินโด-ยูโรเปียน ซึ่งส่งผลให้เกิดการถ่ายทอดภาษาของกลุ่มออกไปยังดินแดนในตะวันออกกลาง อินเดีย เข้าไปถึงโตชาเรียนและชายแดนจีน ส่วนพื้นที่ทางเหนือของทวีปเอเชีย ซึ่งครอบคลุมส่วนใหญ่ของไซบีเรียนั้นยังเป็นพื้นที่ที่ชนเผ่าเร่ร่อนเหล่านี้เดินทางไปไม่ถึงเนื่องจากภูมิประเทศเป็นป่าทึบและเป็นเขตทุ่งน้ำแข็งที่หนาวเย็น พื้นที่บริเวณนี้จึงมีฝูงชนอาศัยอยู่เบาบางมาก
พื้นที่ใจกลางทวีปและแหล่งอารยธรรมลุ่มน้ำชายขอบทวีปถูกแยกออกจากกันโดยแนวเทือกเขาสูงและทะเลทรายที่กว้างใหญ่ เช่น เทือกเขาคอเคซัส เทือกเขาหิมาลัย ทะเลทรายคาราคูม ทะเลทรายโกบี เป็นต้น เทือกเขาและทะเลทรายเหล่านี้ได้กลายเป็นอุปสรรคขัดขวางสำคัญที่ทำให้ชนเผ่าเร่ร่อนบนหลังม้าต้องเดินทางด้วยความยากลำบากกว่าจะสามารถรุกข้ามไปยังพื้นที่ลุ่มชายฝั่งได้ ขณะที่ประชากรเมืองที่อาศัยอยู่ในแหล่งอารยธรรมเหล่านี้มีความก้าวหน้าทั้งทางด้านเทคโนโลยีและวัฒนธรรมมากกว่าชนเผ่าเร่ร่อนมาก แต่ก็ตกเป็นรองผู้รุกรานบนหลังม้ามากทางด้านการทหาร ทำให้กลายเป็นผู้พ่ายแพ้ไป อย่างไรก็ตาม เนื่องจากดินแดนในที่ลุ่มเหล่านี้ไม่มีทุ่งหญ้าที่กว้างใหญ่สำหรับเลี้ยงดูกองทัพม้าขนาดมหึมาของผู้รุกรานได้ ท้ายที่สุด ชนเผ่าเร่รอนผู้พิชิตรัฐต่างๆ ทั้งในจีน อินเดีย และตะวันออกกลาง จึงถูกบีบให้ปรับตัวเข้ากับสังคมท้องถิ่นที่ตนเป็นฝ่ายรุกรานครอบครองไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น